สเน่ห์ และอารมณ์ขันที่ทำให้เราหลงรัก มาริน่า อบราโมวิช มากขึ้นจากงาน Marina Abramovic Symposium
![](https://static.wixstatic.com/media/88dbdd_7860b4c2c97948cd8412cd01011f8c40~mv2.png/v1/fill/w_980,h_551,al_c,q_90,usm_0.66_1.00_0.01,enc_auto/88dbdd_7860b4c2c97948cd8412cd01011f8c40~mv2.png)
ความรักของทั้งคู่เป็นเรื่องราวกึ่งเศร้า กึ่งโรแมนติก เนื่องจากตอนที่พวกเขาตัดสินใจแต่งงานกัน ตกลงกันว่าจะไปแต่งงานที่กำแพงเมืองจีน แต่รัฐบาลจีนไม่อนุญาต เวลาผ่านไปถึง 9 ปี ในที่สุดคำขอของพวกเขาก็ได้รับการอนุมัติ ทว่า เวลาเปลี่ยนไป คนเปลี่ยน จากงานแต่งกลับกลายเป็นงานจากลา
เรื่องราวของมาริน่าและอูเล
พวกเขากลับมาพบกันเป็นครั้งแรกในงานแสดง Artist is present ของมาริน่า
เราค้นเรื่องราวและผลงานของเธอไปเรื่อยๆ ก็พบแต่ผลงานและเรื่องน่าสนใจเต็มไปหมด
หลายการแสดงที่ทำให้เรารู้สึกตกใจและต้องอุทานกับตัวเองออกมาว่า “คิดได้ไงเนี่ย”
มาริน่าที่เราเห็นบนสื่อออนไลน์ มีใบหน้าที่นิ่ง เรียบเฉย และเหมือนเป็นคนเคร่งขรึม
การมาฟัง Symposiam ของเธอที่โรงละคร Siam Pavalai นี้เราไม่ได้คาดหวังอะไรนอกจากความคิดที่ว่าโอกาสแบบนี้คงไม่ได้มีเข้ามาบ่อยๆ และอยากรู้ว่าเธอจะพูดอะไรบ้างนะ
แอบคิดล่วงหน้าไปก่อนนิดหน่อยว่า เธอจะพูดอะไรที่เข้าถึงยากหรือเปล่า เพราะผลงานของเธอช่างเหนือจินตนาการและเต็มไปด้วยความลุ่มลึกทางจิตวิญญาณ เนื่องจากเธอเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางจากผลงาน ด้าน Performance Art ซึ่งท้าทายขีดจำกัดของร่างกายและจิดใจมนุษย์ งานแสดงต่างๆ ของเธออาจทำให้คุณรู้สึกหวาดเสียว ปนด้วยอารมณ์ตื่นเต้น ร่วมลุ้น และอื่นๆ ที่หลากหลาย
บทความนี้มาจากประสบการณ์ของเราที่ได้ไปร่วมงาน อาจมีการตีความและทำความเข้าใจที่แตกต่างจากสื่ออื่นบ้าง เพียงมีใจที่เปิดกว้างก็จะมองเห็นในมุมที่ต่างออกไป
เข้าสู่โลกของมาริน่า
งาน Marina Abramovic Symposium จัดที่โรงละคร Siam Pavalai ศูนย์การค้าสยาม พารากอน ก่อนถึงเวลาเริ่มการแสดง เราเห็นคนหลั่งไหลเข้ามาไม่หยุด ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ทั้งประหลาดใจแต่ก็ดีใจ ว่า มีคนไทยสนใจงานอาร์ตเพิ่มมากขึ้นขนาดนี้เลยหรือ…มากจนถึงกับต้องมีเก้าอี้เสริมกันเลยทีเดียว มาริน่าเปิดฉากการแสดงด้วยคลิปวิดีโองานชิ้นหนึ่งของเธอ ‘Shoes for departure’ (Transitory Objects for Human Use) ซึ่งเธอใช้หินแร่มาทำเป็นรูปทรงรองเท้าขนาดยักษ์ และให้ผู้ชมเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับแร่นั้นๆ ซึ่งคนในคลิปก็จะสวมหูฟังเพื่อปิดการรับรู้เสียงโดยรอบ หลับตา สัมผัสแท่งหินแร่ คริสตัล โดยมีทั้งที่ได้นั่งเก้าอี้ที่มีส่วนประกอบของผลึกแร่ จนถึงคนที่ยืนและสัมผัสแท่งหินแร่เหล่านั้น พร้อมกับการเคลื่อนไหวอย่างเชื่องช้าและดูล่องลอยไปในห้วงความคิดส่วนบุคคล
จากมุมมองของคนที่เพิ่งเคยเห็นโชว์นี้โดยที่ไม่รู้แบ็กกราวนด์มาก่อน เรารู้สึกว่ามันคือการทำสมาธิอย่างหนึ่ง
เนื่องจากงานของมาริน่าส่วนใหญ่จะเป็นงานที่มีความลึกซึ้ง ต้องพึ่งการตีความ แต่สามารถเชื้อเชิญให้ผู้ชมเข้าไปมีส่วนร่วมทางอารมณ์กับชิ้นงานของเธอได้เสมอ
เราคิดว่างานชิ้นนี้ทำให้ผู้คนมีเวลาคิด มีเวลาอยู่กับตัวเอง และเปิดรับพลังงานจากหินแร่และคริสตัลตามธรรมชาติ ซึ่งมีความเชื่อมากมายเกี่ยวกับหินแร่ว่า ช่วยขจัดพลังงานด้านลบออกไปได้
มาริน่าปรากฏตัวบนเวทีด้วยชุดเครสสีดำยาวที่เรามักเห็นเธอสวมชุดลักษณะนี้ตลอดแทบทุกงานที่เธอแสดง เธอกล่าวทักทายและขอให้ผู้ชมอย่านั่งไขว่ห้างเพราะเลือดจะเดินไม่สะดวก (แค่ทักทาย เธอก็แสดงความเป็นกันเองกับเราแล้ว)
จากนั้นบอกให้ทุกคนหลับตาลง อยู่กับปัจจุบัน และหายใจเข้า-ออก พร้อมๆ กับเธอ 12 ครั้ง
ด้านหลังของมาริน่ามีอาสาสมัคร 8 คนที่จะแสดงตัวอย่าง Performance Art แล้วมาริน่าก็เริ่มเล่าเรื่องราวของเธอให้ฟัง พร้อมกับการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างช้าๆ ว่า งานของเธอนั้นค่อนข้างมีความเกี่ยวพันกับหลักของพุทธศาสนาซึ่งคนไทยคงเข้าใจดีว่าเธอหมายถึงอะไร
มาถึงตรงนี้ เราก็คิดว่าเราเข้าใจถูก เพราะก็รู้สึกเช่นเดียวกันว่างานของเธอมีการนำหลักพุทธศาสนาเข้ามาใช้ในการแสดง เช่น การหายใจเข้า ออก ก่อนเริ่มงาน ทำให้ผู้ชมรู้สึกมีสมาธิและสบายตัว พร้อมรับพลังจากเธออย่างเต็มที่
หลังจากที่ทุกคนทำสมาธิพร้อมกันเสร็จแล้ว เธอได้กล่าวถึงความยินดีที่ได้มาแสดง Performance Art ร่วมกับศิลปินท่านอื่นๆในงาน Bangkok Art Bianale 2018 และเล่าถึงผลงานที่ผ่านมาของเธอ ซึ่งชิ้นหลักที่เราขอยกมาเล่าคือ ‘Rhythm O 1974 Courtesy’ หนึ่งในงานที่ทำให้เรานับถือความใจกล้าบ้าบิ่นของเธอ ในขณะที่ตอนนั้นเธออายุเพียง 23 ปี!
![](https://static.wixstatic.com/media/88dbdd_8d5905940a2c4c7286883a5cde439330~mv2.jpeg/v1/fill/w_900,h_866,al_c,q_85,enc_auto/88dbdd_8d5905940a2c4c7286883a5cde439330~mv2.jpeg)
Credit :Link
‘Rhythm O 1974’ เป็นงานแสดงที่จัดขึ้นที่ Sean Gallery นิวยอร์ค, สหรัฐอเมริกา มาริน่ากล่าวกับผู้ร่วมงานว่า ในที่นี้ให้คิดว่าเธอคือ สิ่งของ (Object) ในห้องมีโต๊ะที่วางสิ่งของต่างๆไว้ 72 ชิ้น ซึ่งมีตั้งแต่ ปากกา กรรไกร โซ่ ขวาน และปืนสั้นที่มีกระสุน และอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งพวกเขาจะทำอะไรเธอก็ได้ โดยเมื่อโชว์จบเธอจะรับผิดชอบทุกสิ่งที่เกิดขึ้นเอง
โชว์นี้เล่นกับความรู้สึกของคนดู และจิดใจของมนุษย์ว่าหากพวกเขาได้รับโอกาสที่จะ ‘ทำอะไรใครก็ได้’ พวกเขาจะเลือกทำสิ่งใด?
มาริน่าเล่าถึงโชว์ในครั้งนั้นว่า...
“เริ่มแรกโชว์นั้นมันเป็นไปอย่างง่ายดาย ผู้คนก็ใจดีกับฉัน มีคนเอาดอกกุหลาบมามอบให้ เอาน้ำมาให้ดื่ม แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็มีคนที่ทำในสิ่งที่หยาบคายและแข็งกร้าวมากขึ้น มีคนเอากรรไกรตัดเสื้อผ้าของฉัน เข้ามาลวนลาม หรือแม้แต่เอาปืนเล็งมาที่ฉัน”
มันเป็นช่วงเวลาที่ตึงเครียด แต่ก็เร้าอารมณ์คนดูไปพร้อมๆกัน ถึงเราไม่ได้เห็นภาพการแสดงของเธอจริงๆ แต่แค่คิดภาพตาม เราก็รู้สึกพรั่นพรึงไปหมดเพราะมันเสี่ยงมากๆที่เธอจะได้รับอันตราย
แต่สุดท้ายโชว์ก็จบลงโดยที่ไม่มีเรื่องร้ายเกิดขึ้นและเป็นที่โล่งใจของทุกฝ่าย
The Artist’s Life Manifesto หลักแนวคิดชีวิตการเป็นศิลปิน
![](https://static.wixstatic.com/media/88dbdd_f18f7fec960f4e6089d75fe1c36edae2~mv2.png/v1/fill/w_980,h_551,al_c,q_90,usm_0.66_1.00_0.01,enc_auto/88dbdd_f18f7fec960f4e6089d75fe1c36edae2~mv2.png)
นอกเหนือจากเรื่องราวและผลงานของเธอแล้ว ไฮไลท์ของงานนี้ก็คือThe Artist Manifestoว่าด้วยคำประกาศในฐานะการเป็นศิลปินที่เธอยึดมั่นมาตลอด โดยกลั่นกรองออกมาจากประสบการณ์การอันยาวนานของตนเอง ซึ่งจริงๆแล้วเนื้อหามันยาวมากแต่เราขอยกข้อที่เราชอบมาสักหน่อย
– An artist should not lie to himself or others
ศิลปินไม่ควรโกหกตัวเองหรือผู้อื่น
– An artist should not steal ideas from other artists
ศิลปินไม่ควรขโมยไอเดียจากศิลปินคนอื่น
– An artist should not compromise for themselves or in regards to the art market
ศิลปินไม่ควรประณีประนอมต่อผลงานของตนเอง เพียงเพราะถูกตลาดกดดัน
อ่านคอนเทนต์ทั้งหมดได้จากที่นี่>Cult Potato
Comments